บทคัดย่องานวิจัย

กระบวนการอบแห้งและการส่งออกลำใยอบแห้งของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

วิไล เสือดี

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาการส่งเสริมการเกษตร) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 111 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

กระบวนการอบแห้งและการส่งออกลำใยอบแห้งของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน การศึกษากระบวนการอบแห้งและการส่งออกลำไยแห้งของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการแปรรูปลำไยอบแห้งเพื่อการส่งออก ศึกษาปริมาณผลผลิตที่ใช้ในการแปรรูปตลอดจนการรับซื้อผลผลิต ศึกษาการส่งออกลำไยอบแห้งด้านปริมาณ คุณภาพและตลาด ตลอดจนศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรคในการแปรรูปและการส่งออก ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือผู้ส่งออกที่มาส่งออกผ่านด่านตรวจพืชและวัสดุการเกษตรท่าอากาศยานเชียงใหม่ จำนวน 20 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ส่งออกที่ส่งออกมากกว่า 100 ตัน จำนวน 14 ราย และผู้ส่งออกที่ส่งออกน้อยกว่า 100 ตันจำนวน 6 ราย เก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสัมภาษณ์ แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละและค่าเฉลี่ย กระบวนการแปรรูปลำไยอบแห้งเพื่อการส่งออกพบว่าผู้ส่งออกทั้ง 2 กลุ่ม นิยมใช้ลำไยพันธุ์ต่างๆ ในการอบแห้งเรียงตามลำดับได้แก่ พันธุ์อีดอ พันธุ์เบี้ยวเขียว พันธุ์แห้วและพันธุ์สีชมพู ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.4 ใช้เตากระบะที่ผลิตในประเทศไต้หวันทำการอบลำไย กรรมวิธีในการอบแห้งพบว่า ส่วนใหญ่ลำไยสดปริมาณ 2 ตัน/เตา เทใส่กระบะซึ่งแบ่งเป็น 3 ชั้น มีตาข่ายรองรับ ใช้อุณหภูมิในการอบ 2-5 ระดับ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 52.9 ใช้อุณหภูมิที่ระดับ 80-70 องศาเซลเซียส โดยใช้อุณหภูมิเริ่มต้นที่ 80 องศาเซลเซียส ส่วนระยะเวลาในการอบส่วนใหญ่ร้อยละ 41 ใช้เวลาในการอบ 36 ชั่วโมง และมีการพลิกกลับลำไย 2-3 ครั้ง เพื่อให้ลำไยแห้งสม่ำเสมอ การตรวจวัดความชื้นของลำไยอบแห้งหลังการอบโดยใช้ประสบการณ์ หลักจากการอบแห้งแล้วมีการคัดขนาดโดยแบ่งเป็น 4 ขนาด คือ AA A B และ C ซึ่งเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 25 22.2 20 และ 18.3 มม. ตามลำดับ จากนั้นคัดลูกที่แตกออกแล้วจึงบรรจุใส่กล่องกระดาษที่บุด้วยพลาสติกน้ำหนัก 20 กก./กล่อง ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ใช้กล่องกระดาษที่มีเครื่องหมายบรรจุหีบห่อ (ตรา) นอกจากนี้พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เก็บรักษาลำไยอบแห้งในรูปกล่องกระดาษ ณ อุณหภูมิห้อง ปริมาณผลผลิตที่ใช้ในการแปรรูปตลอดจนการรับซื้อผลผลิต พบว่าผู้ส่งออกทั้ง 2 กลุ่มส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 ใช้ลำไยสด ปริมาณ 2 ตัน/เตา และใช้เตาอบเฉลี่ย 54 เตา/วัน ปริมาณผลผลิตสดที่ใช้เฉลี่ย 108 ตัน/วัน สำหรับการรับซื้อผลผลิตซึ่งมีทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้ง โดยรับซื้อเฉลี่ย 87,841.1 กก./วัน และ 13,437.5 กก./วัน ตามลำดับ และพบว่าส่วนใหญ่รับซื้อจากเกษตรกรและมีการรับซื้อโดยแบ่งตามเกรด AA A B และ C ดังนี้ ลำไยสด 21.85, 18.14, 13.01 และ 5.57 บาท/กก. และราคาลำไยอบแห้ง 90.23, 71.51, 38.72 และ 16.45 บาท/กก. ตามลำดับ การส่งออกลำไยอบแห้งด้านปริมาณ คุณภาพและตลาด พบว่าผู้ส่งออกทั้ง 2 กลุ่ม ได้มีการส่งออกลำไยอบแห้งแบบมีเปลือกปริมาณรวมทั้งสิ้น 17,655,357 กิโลกรัม มูลค่า 710,494,117 บาท โดยส่งไปประเทศจีนร้อยละ 85.5 ปริมาณ 15,019,583 กก. และประเทศฮ่องกงร้อยละ 14.5 ปริมาณ 2,563,774 กก. สำหรับคุณภาพที่ต่างประเทศกำหนดได้แก่ ขนาดตรงตามเกรดที่ระบุบนกล่อง เนื้อแห้งไม่มีเชื้อรา ผลขนาดสม่ำเสมอและผลไม่แตก สภาพปัญหาอุปสรรคในการแปรรูป และการส่งออกพบว่าผู้ส่งออกทั้ง 2 กลุ่ม ประสบปัญหาผลผลิตมีต้นทุนสูงทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้ง เกษตรกรมีการกักตุนลำไยอบแห้งเพื่อเก็งกำไร ตลอดจนลำไยอบแห้งที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายไม่ตรงตามคุณภาพที่กำหนดเช่น ขนาด ความชื้น ด้านการตลาดพบว่า ตลาดยังไม่มีระบบการตลาดที่ดี ทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ปัญหาการส่งออกพบว่ายังไม่มีหน่วยราชการและหน่วยงานเอกชนที่จะออกใบรับรองคุณภาพของ ลำไยอบแห้ง ตลอดจนปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียน และแรงงาน