การปรับปรุงคุณภาพ และการยืดอายุ (มะม่วง) งานวิจัยครบวงจรศูนย์ฯ

การปรับปรุงคุณภาพ และการยืดอายุ งานวิจัย มะม่วง หมวดหมู่ : งานวิจัยครบวงจร
การปรับปรุงคุณภาพ และการยืดอายุ

ประเด็นปัญหา : การสูญเสียคุณภาพของผลมะม่วงในขณะที่ส่งออกไปตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาทางเรือ

มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ของไทย เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีคุณภาพดี มีคุณค่าทางอาหาร อร่อย หอม มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ปัจจุบันการส่งออกมะม่วงสดยังต้องอาศัยการขนส่งทางเครื่องบิน เพราะมะม่วงเป็นผลไม้ที่บอบบาง มีอายุการเก็บรักษาสั้น จึงจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการขนส่งที่ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุดเพื่อรักษาคุณภาพผลของมะม่วงให้ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่การขนส่งมะม่วงทางเครื่องบินไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนของการส่งออกมะม่วงนั้นสูงขึ้น ส่งผลให้มะม่วงของไทยที่ขายอยู่ที่สหรัฐอเมริกามีราคาแพงกว่ามะม่วงของประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม หากยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ทำให้สามารถขนส่งมะม่วงทางเรือได้ ซึ่งค่าขนส่งทางเรือถูกกว่าการขนส่งทางเครื่องบินมาก เป็นการลดต้นทุนการผลิต และมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อีกด้วย

วิธีการแก้ไขปัญหา

จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ ได้จัดทำโครงการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพผล และการยืดอายุการเก็บรักษา โครงการวิจัยของศูนย์ฯ ที่มารองรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้

  • (1) โครงการวิจัย การลดความเสียหายของผลมะม่วงระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ (มก.)
  • (2) โครงการวิจัย ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการบ่มมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ในระดับการค้าของประเทศไทย (มก)
  • (3) โครงการวิจัย การศึกษาผลของ Salicylic Acid และ Jasmonic Acid ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (4) โครงการวิจัย บทบาทของเมทิลแจสโมเนสต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแคโรทีนอยด์และเบต้าแคโรทีนในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ภายหลังการเก็บเกี่ยว (มจธ.)
  • (5) โครงการวิจัย ผลของอุณหภูมิต่ออายุการเก็บรักษาและอาการสะท้านหนาวของมะม่วง (มช.)
  • (6) โครงการวิจัย การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมีของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก ระหว่างการเจริญเติบโตและการเก็บรักษา (มช.)
  • (7) โครงการวิจัย ชีวเคมีและชีวโมเลกุลของการเกิดสีผิดปกติของผลมะม่วงเนื่องจากการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ (มก.)
  • (8) โครงการวิจัย ผลของการทำ Heat Treatment ต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (9) โครงการวิจัย ผลของสารเคลือบผิวที่รับประทานได้ต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (10) โครงการวิจัย ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงต่อสมการการหายใจของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (11) โครงการวิจัย ผลของการลดอุณหภูมิต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (12) โครงการวิจัย ผลของการควบคุมสภาพบรรยากาศต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (13) โครงการวิจัย ผลของอุณหภูมิสลับต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (14) โครงการวิจัย ผลของการทำ CO2- Preconditioning ต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (15) โครงการวิจัย ผลของ Acetaldehyde ต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (16) โครงการวิจัย ผลของวัยและการทำ Heat Treatment ต่อสมการการหายใจของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (17) โครงการวิจัย ผลของ 1-MCP ต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
  • (18) โครงการวิจัย การชะลอการสุกของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก (มช.)
  • (19) โครงการวิจัย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโอโซนในการกำจัดเอทธิลีนเพื่อควบคุมคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ (มช.)
  • (20) โครงการวิจัย ผลการยับยั้งของจุลินทรีย์ที่ผลิตไคติเนสต่อเชื้อราสาเหตุของโรคในมะม่วง (มช.)
  • (21) โครงการวิจัย การควบคุมโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว (มช.)
  • (22) โครงการวิจัย การยับยั้งการเจริญของเชื้อราก่อโรคต่อมะม่วงโดยจุลินทรีย์ทนอุณหภูมิสูงที่ผลิตไคติเนส (มช.)
  • (23) โครงการวิจัย การควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว (มช.)
  • (24) โครงการวิจัย ผลของแสงต่อการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง (มก.)
  • (25) โครงการวิจัย ฤทธิ์ของสารสำคัญจากพืชสมุนไพรในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง (มก.)
  • (26) โครงการวิจัย การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้น้ำร้อนในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงเพื่อการส่งออก (มก.)

ประเด็นปัญหา : คุณภาพผลของมะม่วงที่ผ่านขั้นตอนการกักกันพืชไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการนำเข้ามะม่วงสดของประเทศญี่ปุ่นจะต้องมีการกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีผ่านเครื่องอบไอน้ำ ส่วนข้อกำหนดของประเทศสหรัฐอเมริกา กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้มีการนำเข้าผลไม้สดไทยด้วยวิธีการฉายรังสี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้มีโครงการนำร่องส่งออกผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ มังคุด มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด ซึ่งผลไม้ไทยทั้ง 6 ชนิดนี้ ต้องผ่านการฉายรังสีแกมมา เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ปนเปื้อนไปกับผลิตผล จากข้อกำหนดของประเทศต่างๆ พบว่าผู้ส่งออกประสบกับปัญหาด้านคุณภาพของผลมะม่วง ทำให้มะม่วงที่ผ่านการอบไอน้ำและฉายรังสีแกมมาไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

วิธีการแก้ไขปัญหา

หลังจากที่ผลมะม่วงผ่านขั้นตอนการกักกันพืชของประเทศต่างๆ ทำให้ผลมะม่วงมีคุณภาพผลที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาหาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผลมะม่วงที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาหรือการอบไอน้ำ แล้วทำให้คุณภาพผลเปลี่ยนไป และหากรรมวิธีต่างๆ เข้ามาร่วมเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษา และยังคงคุณภาพของผลมะม่วงให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยศูนย์ฯ ได้จัดทำโครงการวิจัย “ผลของการฉายรังสีแกมมาต่อคุณภาพของผลมะม่วง” (มจธ.) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ โดยโครงการวิจัยนี้ศึกษาวิธีการใช้ 1-MCP และการดัดแปลงสภาพบรรยากาศ ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อนและสารเคมีโปรคลอราซกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ฉายรังสีแกมมา เพื่อช่วยชะลอการสุกของผลมะม่วงร่วมกับการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สามารถขนส่งมะม่วงทางเรือ และยังศึกษาหาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบผลมะม่วงที่มีการเข้าทำลายของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรกโนส เพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้การคัดเลือกมะม่วงที่ปราศจากการเข้าทำลายของเชื้อ เพื่อให้สามารถคัดเลือกมะม่วงเกรดเยี่ยม (premium grade) ส่งตลาดต่างประเทศได้