สกัดแมลง 'ศัตรูมะพร้าว' ก่อนวิกฤติ

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 54
สกัดแมลง 'ศัตรูมะพร้าว' ก่อนวิกฤติ

ขณะที่ผู้ปลูกมะพร้าวกำลังพึงพอใจในราคามะพร้าวที่ขยับตัวสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์สูง แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูพืชรุมเร้าอย่างหนัก ทั้งแมลงดำหนามมะพร้าว หนอนหัวดำมะพร้าว ด้วงแรดมะพร้าว และหนอนพาราซา โดยมีรายงานพบศัตรูพืช 4 ชนิดดังกล่าวเข้าทำลายสร้างความเสียหายแก่สวนมะพร้าวหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ ได้รับความเสียหายประมาณ 120,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดประมาณ 382,566 ไร่ ซึ่งหากไม่เร่งควบคุมพื้นที่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ไม่นานประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ปลูกมะพร้าวเป็นวงกว้างและอนาคตอาจจะต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งดำเนิน “โครงการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” เพื่อควบคุมและลดการระบาดทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว และแมลงดำหนามมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 8 อำเภอ โดยมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการควบคุม ป้องกัน กำจัด และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวได้อย่างยั่งยืน

ขณะนี้โครงการฯ ได้เร่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างพร้อมเพรียงกันโดยใช้วิธีผสมผสาน คือ หากพบหนอนหัวดำเข้าทำลายมะพร้าวในแปลงแนะนำให้เกษตรกรตัดทางใบที่ถูกทำลายมาเผาทิ้งทันทีและให้ทำความสะอาดสวนโดยการตัดหญ้าที่ปกคลุมพื้นที่ว่างในสวน เพื่อกำจัดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของตัวเต็มวัยที่เป็นผีเสื้อกลางคืน ขณะเดียวกันยังเน้นให้ใช้ชีววิธีร่วมด้วย โดยฉีดพ่นเชื้อ Bt (Bacillus thuringiensis) เพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว พร้อมสนับสนุนการปล่อย แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมมา (Trichogramma confusum Viggiani) เป้าหมาย 118.38 ล้านตัว เพื่อควบคุมหนอนหัวดำ และปล่อยแตนเบียนอะซีโคเดส (Asecodes hispinarum Boucek) ไม่น้อยกว่า 12.49 ล้านตัว เพื่อควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าวด้วย ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร สัตว์เลี้ยงและเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศและรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม

นอกจากนั้นยังได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความพร้อมรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) 8 ศูนย์ ในพื้นที่ 8 อำเภอ ซึ่งสมาชิก ศจช.จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจำแนกชนิดแมลงศัตรูมะพร้าว รวมถึงการควบคุม ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังจัดทำแปลงติดตามสถานการณ์การระบาด มีการสำรวจศัตรูมะพร้าวในแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง และประกาศเตือนให้เกษตรกรทราบเมื่อมีการระบาดของศัตรูมะพร้าว

ทางโครงการฯ ยังมีแผนผลิตขยายและจัดหาแตนเบียนอะซีโคเดส จำนวน 23,492,750 ตัว เพื่อปล่อยในแหล่งปลูกมะพร้าวที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการเสียหายรุนแรงและแมลง หางหนีบ จำนวน 1,420,920 ตัว เพื่อปล่อยในพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่มีความสูงต่ำกว่า 10 เมตร และเป็นพื้นที่เสียหายไม่รุนแรง พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้การควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวในพื้นที่ระบาด อำเภอละ 1 แปลง แปลงละ 1 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงานและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสวนมะพร้าวของตนเอง

ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการเกษตรยังมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดสำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์บริหารศัตรูพืชประสานความร่วมมือกับ ศจช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ติดตามเฝ้าระวัง การแพร่ระบาดทำลายซ้ำของแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์สถานการณ์ระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทำการควบคุมและกำจัดได้ทันท่วงทีก่อนที่จะระบาดลุกลามขยายเป็นวงกว้าง.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=120937