วิจัยน้ำมันใน 'สาหร่าย' หาค่าด้วยเทคนิคย้อมสีไนล์ เรด

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 54
วิจัยน้ำมันใน 'สาหร่าย' หาค่าด้วยเทคนิคย้อมสีไนล์ เรด

จากการเดินหน้าวิจัยและพัฒนาสาหร่าย กระทั่งออกมาเป็นอาหารทั้งที่มนุษย์เราเปิบ และอาหารสำหรับสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำ มาเป็นเวลากว่า 25 ปี ส่งผลให้เวลานี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กลายเป็นคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและจีน


ฉะนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพพร้อมคณะ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการวิจัย คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันด้วยเทคนิคการย้อมสี แห่งแรกของไทย โดย ปตท.ให้การสนับสนุนทุน

ดร.อาภารัตน์ เปิดเผยว่า หลังการศึกษาค้นคว้าพร้อมเก็บตัวอย่างสาหร่ายจากสถานที่ต่างๆทั่วประเทศไทย เพื่อมาเพาะเลี้ยงขยายการเติบโต เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ภายในพื้นที่คลังสาหร่ายที่ วว.เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มาหลายสิบปี พบว่ามีสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการวิจัยพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งด้านต่างๆอย่างลดความร้อน ปรับปรุงดิน อาหารสำหรับมนุษย์ และล่าสุด การสกัดทำน้ำมันคุณภาพ ที่จะต้องนำไปผ่านขบวนการกลั่นกรองด้วยระบบของ ปตท.และน้ำมันที่มีคุณภาพเหมือนกับ น้ำมันที่ได้จากพืชพลังงานไบโอดีเซล


สำหรับขั้นตอนแนวทางการวิจัย เริ่มจากสำรวจเก็บรวบรวมสาหร่ายขนาดเล็ก สายพันธุ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงทั้งจาก แหล่งน้ำ ดิน ที่ชุ่มชื้น ทั่วประเทศเหลือเพียงจังหวัดสุรินทร์ และร้อยเอ็ด จากนั้นนำมาทำการเพาะเลี้ยง หลังการใช้ เทคนิคการย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red Staining) พบว่าสาหร่ายกว่า 40 สายพันธุ์ มีคุณสมบัติ ทนแสง อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม เหมาะที่จะนำมาคัดเลือกผลิตน้ำมันได้รวดเร็ว

หลังทีมวิจัยได้นำมาผ่านเทคนิคดังกล่าว พบว่าในจำนวนนี้กลุ่มที่มีความเหมาะสมเป็นสาหร่ายกลุ่มสีเขียวและน้ำเงินแกมเขียว หลังผ่านขบวนการดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ากากใยที่เหลือยังมีสี เมื่อนำไปวิเคราะห์ให้ผลว่ายังมีโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อการนำไปทำเป็นส่วนผสมเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ด้านเร่งเนื้อ เร่งสี อย่างปลาสวยงาม รวมทั้งไก่ไข่ได้อีกด้วย

ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัยฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และผู้จัดการเครือข่าย คพท.บอกว่า การที่ ปตท.สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ.2551-2558 นั้น ส่วนหนึ่งเพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญ/บาร์เรล และเป้าหมายเชิงเทคนิคให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัม/ตารางเมตร/วัน ปริมาณน้ำมันประมาณ 40% หรือประมาณ 6 ตันน้ำมัน/ไร่/ปี ไม่รวมผลิตภัณฑ์พลอยได้ จำพวกโปรตีนคุณภาพสูง สารสกัดจำพวกกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งในเบื้องต้นมีการประเมินต้นทุนการผลิต ซึ่งมวลสาหร่ายอยู่ที่ประมาณ 200 บาท/กิโลกรัม น้ำหนักแห้งจะมีปริมาณน้ำมันที่ 20-30% นับว่ายังเป็นต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงอยู่

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวคาดว่าจะเป็นคลังสำรองสำหรับประเทศไทยด้านลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ในอนาคต ที่ ณ เวลานี้แม้แต่ยุโรป สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เกาหลี รวมทั้งสาธารณรัฐ-ประชาชนจีน ต่างเริ่มศึกษากันไปไกลแล้วเช่นกัน.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.thairath.co.th/content/edu/148716