เปิดมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 54
เปิดมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมการควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง มาอย่างต่อเนื่องทำให้สถานการณ์ระบาดของศัตรูพืชชนิดดังกล่าวลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเมื่อเดือนมกราคม 2553 มีประมาณ 500,000 ไร่ สำหรับปีนี้นั้น นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า

ปีนี้กระทรวงเกษตรฯกำหนดมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไว้ 4 มาตรการ คือ มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการแจ้งเตือน มาตรการควบคุม และ มาตรการเยียวยา ในเบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) จำนวน 572 ศูนย์ สมาชิก จำนวน 17,160 รายทั่วประเทศ สำรวจเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในแปลงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ หากพบในระดับการระบาด (พบ 3 จุด จาก 10 จุดในแปลงติดตามสถานการณ์พื้นที่ 1 ไร่)ให้รายงานสำนักงานเกษตรอำเภอและประกาศแจ้งให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบทันที เพื่อจะได้สำรวจแปลงของตนเองและเด็ดยอดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่มีเพลี้ย แป้งมันสำปะหลังทำลาย ในขณะเดียวกันยังได้เร่งจัดตั้งและพัฒนากระบวนการทำงานของ ศจช. ใหม่อีก จำนวน 377 ศูนย์ สมาชิกประมาณ 11,310 ราย เพื่อเพิ่มศักยภาพมาตรการติดตามเฝ้าระวังและมาตรการแจ้งเตือนศัตรูพืชให้ ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนสนับสนุนด้านวิชาการจากศูนย์บริหารศัตรูพืชของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค

ขณะเดียวกันในมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังกรมฯ ยังเร่งดำเนินการควบคุมพื้นที่การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรไถตากดินอย่างน้อย 14 วัน ทั้งยังกำหนดมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลือกใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งก่อนปลูกแนะนำให้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมี 6 ชนิดที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร เป้าหมายไม่น้อยกว่า 5.92 ล้านไร่ พร้อมเน้นให้ดูแลรักษาต้นมันสำปะหลังให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วย

นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เกษตรกรปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งโดยวิธีผสมผสานเน้นการใช้ชีววิธี ได้แก่ แมลงช้างปีกใส อย่างน้อย 100 ตัว/ไร่ หรือกรณีที่พบเพลี้ยแป้งสีชมพู ให้ปล่อยแตนเบียน Anagyrus lopezi อย่างน้อย 50-200 คู่/ไร่ ซึ่งปีนี้ได้มีแผนสนับสนุนให้ศูนย์บริหารศัตรูพืชของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ดูแลจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำการผลิตและสนับสนุนศัตรูธรรมชาติให้แก่ ศจช. เพื่อนำไปผลิตขยายและใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เป้าหมายกว่า 130 ล้านตัว แยกเป็นแมลงช้างปีกใส 87 ล้านตัว และแตนเบียน ประมาณ 43 ล้านตัว โดยเริ่มปล่อยไปแล้วหลายจังหวัด อีกทั้งยังส่งเสริมการจัดทำแปลงขยายพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี นำร่องในแปลงสมาชิก ศจช. เป้าหมาย 25,740 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่า เกษตรกรข้างเคียงจะมีพันธุ์ดีเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อในปีถัดไปไม่น้อยกว่า 100,000 ไร่

และอนาคตยังมีแผนขยายพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อ เยื่อเป้าหมาย 1 ล้านต้น เตรียมป้อนให้เกษตรกรที่มีความต้องการในรอบการผลิตหน้า.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=119693