บรรจุภัณฑ์ "พลาสติกชีวฐาน" งานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอาหาร

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 54
บรรจุภัณฑ์ "พลาสติกชีวฐาน" งานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอาหาร

แม้พลาสติกทั่วไปที่ผลิตสังเคราะห์จากมอโนเมอร์ที่มีแหล่งกำเนิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นวัสดุหนึ่งที่ใช้มากในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งชนิดแข็ง กึ่งแข็ง และชนิดอ่อนตัว เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ อาทิ ความแข็งแรง น้ำหนักเบา และราคาถูก แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าพลาสติกชนิดนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะทำการกำจัดโดยการรีไซเคิล หรือการฝังกลบ การเผา แต่ผลที่ตามมาล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น


ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนวัตกรรมวัสดุชีวฐานเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเป็นหน่วยงานที่ศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุชีวฐาน เพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบเกษตร และพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุชีวฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาการตกค้างของขยะพลาสติกตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งวัสดุชีวฐานหรือพลาสติกชีวฐาน (bio-based plastic) เป็นพลาสติกที่มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น พืช และสัตว์ สามารถย่อยสลายได้โดยจุลชีพในธรรมชาติ และปัจจุบันมีบทบาทมากทั้งในการนำไปใช้ทดแทนวัสดุสังเคราะห์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ดร.รังรอง ยกส้าน ดร.อำพร เสน่ห์ และ ผศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือกลุ่มผู้บุกเบิกงานวิจัยเพื่อพัฒนาพลาสติกชีวฐานจากวัตถุดิบเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจไทย เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และถั่วต่างๆ

ซึ่งนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยเน้นการผลิตเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช การทำคอมพอสิทของเทอร์โมพลาสติก สตาร์ช การทำคอมพาวด์และเบลนด์ของเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช กับพอลิเมอร์หรือพลาสติกชนิดอื่น ทั้งที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เช่น PE PP พอลิบิวทิลีนอะดิเพท-โค-เทเรฟทาเลท (p(butylene adipate-co-terephthalate), PBAT) และพอลิบิวทิลีนซัคซิเนท (poly (butylenes succinate), PBS) เป็นต้น และทั้งที่มาจากธรรมชาติ อาทิ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน จากพืชและสัตว์ เช่น PLA และยังรวมถึงเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์แบบต่อเนื่องของพลาสติกชีวฐานและพลาสติกชีวภาพต้นแบบ

ผลจากความความสำเร็จดังกล่าวทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวฐานและพลาสติกชีวภาพเพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นอย่างดี ดังนี้ ได้แก่

1.เม็ดพลาสติกชีวภาพจากเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช
2.ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพชนิดแข็ง (rigid packaging) เช่น จานรองแก้ว ถาด ถ้วย
3.ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพชนิดอ่อน (flexible packaging)

ซึ่งผลงานวิจัยหรือตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดนี้ จะนำไปแสดงในส่วนของ Ku Outlet งานวิจัยเด่นของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริเวณหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2554 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2554 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทร. 0-2562-5097-99 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110128/87125/บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวฐานงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอาหาร.html