ปลาหมอไทยแปลงเพศ

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 54
ปลาหมอไทยแปลงเพศ

ปัจจุบันการเลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศในบ่อดินได้รับความนิยมมากขึ้น จัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีความทนทาน เลี้ยงง่าย ใช้น้ำน้อยสามารถเลี้ยงได้ทั้งบ่อดินขนาดต่าง ๆ ในกระชัง ในแหล่งน้ำนิ่งและเลี้ยงในบ่อพลาสติกได้ รวมทั้งขนส่งง่ายโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน ในอดีตการเลี้ยงปลาหมอไทยของเกษตรกรยังใช้ลูกพันธุ์ปลาที่ยังไม่แปลงเพศ ทำให้ได้ปลาเพศผู้ในปริมาณสูงถึง 40-50% เมื่อปลาเจริญเติบโตจับขายได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 20-40 บาท เท่านั้น

ผศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการในการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตลูกปลาหมอไทยแปลงเพศ ซึ่งแปลงเป็นเพศปลาหมอให้เป็นเพศเมียโดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

อ.โฆษิต เล่าว่า ลักษณะของปลาหมอเพศผู้จะมีขนาดตัวที่เล็ก โตช้า ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อพันธุ์ปลาหมอที่เลี้ยงขาดคุณภาพย่อมส่งผลต่อผลผลิตต่อไร่ให้ต่ำด้วย เช่นกัน แต่จากการพัฒนาสายพันธุ์ควบคู่ไปกับพัฒนาเทคนิคการผลิตลูกปลาแปลงเพศให้เป็นเปอร์เซ็นต์เพศเมียสูงขึ้นถึง 85 เปอร์เซ็นต์ โดยปลาหมอเพศเมียจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าเพศผู้ถึง 3-4 เท่า โตเร็วและขายได้ราคาที่สูงกว่า เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ผลสำเร็จจากการผลิตลูกปลาหมอไทยแปลงเพศทำให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ จ.สกลนครและ จ.กาฬสินธุ์ ขยายพื้นที่เลี้ยงกันเป็นจำนวนมากในขณะนี้

ลักษณะของดินที่ใช้เลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศควรเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย น้ำไม่รั่วซึมและสามารถเก็บกักน้ำได้ 4-6 เดือน พื้นที่เลี้ยงควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติหรืออยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ก่อนปล่อยลูกพันธุ์ปลาควรจะกำจัดวัชพืชรอบบ่อและกำจัดศัตรูของลูกปลา ใช้มุ้งอวนไนลอนสีฟ้ากั้นรอบบ่อ หว่านปูนขาวขณะดินชื้นในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน

ตากบ่อเพื่อให้แก๊สพิษในดินบางชนิดสลายตัว 2-3 สัปดาห์ จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อใช้ตาข่ายกรองน้ำก่อนเข้าบ่อเลี้ยงเพื่อไม่ให้ปลาใหญ่ ชนิดอื่นเข้าบ่อเลี้ยง ให้ระดับน้ำสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร ทำสีน้ำโดยใส่ปุ๋ยมูลไก่อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่เพื่อเพิ่มอาหารธรรมชาติเติมไรแดงลงในบ่อก่อนที่จะปล่อยลูก ปลา 3 วัน ควรมีการถ่ายเทน้ำทุก 7-10 วัน รอบบ่อต้องล้อมตาข่ายไนลอนสูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหมอไทยหลบหนีออกจากบ่อ

อัตราปล่อยลูกปลาที่ขนาด 2-3 เซนติเมตร ที่ความหนาแน่น 25-50 ตัวต่อ ตาราง ระดับน้ำควรไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ปล่อยปลา 1 เดือนเพิ่มระดับน้ำในบ่อเป็น 1-1.5 เมตรให้อาหารเม็ดปลาดุกได้ ให้ในอัตรา 3-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ให้ 2 ครั้งเช้าและเย็น เลี้ยงเพียง 3 เดือนจะได้ปลาที่มีขนาดน้ำหนัก 100-150 กรัม

ปัจจุบันปลาหมอไทยแปลงเพศ ขนาด 100-150 กรัม หรือ 8-10 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่าย 50-100 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ที่เลี้ยงปลาหมอไทยในขณะนี้มีรายได้สูงถึงไร่ละ 30,000 บาท ต่อเดือนหรือกว่า 100,000 บาท ต่อไร่ ต่อรุ่นเลย.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=117641