'สกัดรากยอ' ระบบน้ำกึ่งวิกฤติ ได้สาร 'แดมนาแคนธัล' ต้านมะเร็ง

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 54
'สกัดรากยอ' ระบบน้ำกึ่งวิกฤติ ได้สาร 'แดมนาแคนธัล' ต้านมะเร็ง

มะเร็ง โรคร้ายที่คุกคามชีวิตมนุษยชาติบนโลกกลมๆใบนี้ ให้ต้องลาจากไปก่อนวัยอันควร โรคดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ต่างแสวงหาตัวยาทั้งแผนปัจจุบันอย่างที่เรียกว่า "ยายุคไบโอเทค" (รักษาจำเพาะเจาะจงผู้ป่วยโรคมะเร็งไต) และสารที่อยู่ในกลุ่มพืชสมุนไพรไทย

ฉะนี้ เพื่อเป็นทางเลือก รศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ จากภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงคิดค้นวิธีการ "สกัดสารต้านมะเร็งจากรากยอด้วยระบบน้ำกึ่งวิกฤติ" ขึ้น

จุดวิกฤติ (Critical point) หมายถึง สภาวะอุณหภูมิและความดันที่สสารเริ่มปรากฏในสถานะของไหลที่ไม่สามารถแบ่งแยกระหว่างเฟสของเหลวและไอจากกันได้ ดังนั้น ของไหลวิกฤติยวดยิ่ง จึงหมายถึงของไหลที่มีอุณหภูมิและความดันสูงกว่าจุดวิกฤติ และนำมาใช้ในการสกัดสมุนไพร เปลี่ยนชีวมวลทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม โดยขบวนการดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับตัวทำละลายอินทรีย์หลายชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน

รศ.ดร.อาทิวรรณ เปิดเผยว่า ช่วงหนึ่งสมุนไพรอย่าง "ลูกยอ" นับว่าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในรูปของ "น้ำพร้อมดื่ม" ค่อนข้างมาก จึงทำให้มีแนวคิดว่า หากเป็นส่วนอื่นๆจะมีฤทธิ์ สารองค์ประกอบใดบ้าง จึงเริ่มศึกษาข้อมูลการวิจัยต่างๆ ซึ่งพบว่าทุกส่วนของต้นยอล้วนมีประโยชน์ โดยเฉพาะส่วนของ "ราก" จะมีสารสำคัญคือ "แดมนาแคนธัล" (Damnacanthal) ที่มีคุณสมบัติ ต้านมะเร็ง และสาร ต้านอนุมูลอิสระ ในปริมาณที่มาก ดังนั้น ทีมวิจัยจึงเริ่มต้น หาแนวทางการสกัด

ด้วยเทคนิควิธีระบบน้ำกึ่งวิกฤติ แทนการใช้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นวิธีแบบเก่า สำหรับกรรมวิธีการสกัด น้ำโดยทั่วไปจะมีขั้วสูงไม่ทำหน้าที่ละลายสารอินทรีย์ ดังนั้น จึงต้องใช้แอลกอฮอล์ช่วย แต่เมื่อปรับอุณหภูมิน้ำให้มีความสูงขึ้น (น้ำปกติจะมีพันธะ ไฮโดรเจน หากเชื่อมระหว่างโมเลกุลของน้ำ) จะทำหน้าที่สลายตัว

กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ กึ่งวิกฤติ หมายถึง อุณหภูมิมากกว่าจุดเดือด (100 ํC) แต่ต่ำกว่าจุดวิกฤติคืออยู่ที่ 100-180 องศาเซลเซียส เพราะหากใช้มากกว่านี้จะทำให้สารเกิดการสลายตัวได้ โดยทีมวิจัยได้นำรากยอ 1 กรัม นำมาสกัดด้วยเทคนิควิธีดังกล่าวในห้องทดลอง ในเวลาที่เหมาะสม แล้วได้สารแดมนาแคนธัลในปริมาณ 1 มิลลิกรัม ซึ่งทั่วไปจะขายอยู่ที่ 6,000 บาท

"การใส่ความดันเทียบกับการสกัดด้วยสารเคมี แม้จะใช้ต้นทุนสูง แต่มีความปลอดภัย และที่สำคัญยังเป็นช่องทางของการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย และเป็นการพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรใกล้ตัวในบ้านเรา ให้เป็นยารักษาโรคได้ในอนาคต"

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า การสกัดแบบใหม่นี้นอกจากลดความเสี่ยงสารตกค้างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังเป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ สนับสนุนนักวิจัยไทยที่มีผลงานวิจัยดีเด่นและสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ ไทยอย่างต่อเนื่อง ผลงานดังกล่าวได้รับคัดเลือกเป็นผลงานวิจัยระดับดีเยี่ยมประจำปี 2553

โดยมีพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และงานวันนักประดิษฐ์ ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2554 ณ อิมแพค เมืองทองธานี.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 มกราคม 2554
http://www.thairath.co.th/content/edu/138476