ผลิตลำไยนอกฤดูสูตร "หมอดิน" สารโพแทสผสมปุ๋ยน้ำลดต้นทุน

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 13 มกราคม 54
ผลิตลำไยนอกฤดูสูตร "หมอดิน" สารโพแทสผสมปุ๋ยน้ำลดต้นทุน

แม้ผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่จะมีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) เร่งให้ต้นลำไยออกดอกเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูกันอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น หวังจะทำให้ลำไยออกดอกได้ดี แต่ผลที่ได้กลับพบว่าการใช้สารในอัตราสูงกว่าคำแนะนำมีผลทำให้การออกดอกลดลง 30-40% ขณะเดียวกันยังทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังมีสารเคมีตกค้างในดินด้วย หากใช้ปริมาณมากติดต่อกันหลายปีจะทำให้ต้นลำไยมีปัญหา เช่น ต้นทรุดโทรมเร็ว หรือเกิดอาการใบเหลืองแล้วแห้งตาย


อินทอง หล่อเถิน เกษตรกรผู้ปลูกลำไยนอกฤดู อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หนึ่งในเกษตรกรที่ยึดแนวทางการผลิตลำไยโดยการใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว ทั้งสารโพแทสเซียมคลอเรต ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืชมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเมื่อได้รับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรจากกรมพัฒนาที่ดิน และการเข้ารับการอบรมจากที่ต่างๆ จึงเกิดความสนใจศึกษาทดลองทำสารอินทรีย์ไว้ใช้ดูบ้าง หลังจากทราบแล้วว่าสารอินทรีย์มีประโยชน์ต่อดินและพืชรวมทั้งสามารถทำเองได้ จึงหาทางศึกษาเพิ่มเติมถึงวิธีการผลิตสารอินทรีย์ต่างๆ อย่างถูกวิธี จนได้รับคำแนะนำจากสถานีพัฒนาที่ดินลำพูน

“เมื่อก่อนใช้เคมีอย่างเดียวดินแห้งแข็ง มีลำไยอยู่ 3 ต้น ทดลองนำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักไปใส่ ปรากฏว่าใบเขียวขึ้น ต้นสมบูรณ์ดีกว่าต้นอื่นๆ จึงรู้ว่าการใช้สารอินทรีย์ร่วมกับสารเคมีสามารถทำได้ และให้ผลดีกว่าการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากต้นลำไยสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สามารถทำใช้เองได้ต้นทุนไม่สูง”

อินทองเผยถึงที่มาของการเปลี่ยนมาใช้สารอินทรีย์ชีวภาพควบคู่กับสารเคมีทางการเกษตร โดยการผลิตลำไยนอกฤดูตามแบบฉบับของหมอดินอินทองนั้น ก่อนใส่สารโพแทสเซียมคลอเรต ต้องบำรุงต้นให้สมบูรณ์ หลังเก็บผลผลิตแล้วต้องใส่ปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ซึ่งหมักจากเศษหญ้า กิ่ง และใบลำไยในอัตราส่วนใส่ตามอายุของต้นลำไย 1 ปีต่อ 1 กก. พอถึงช่วงที่ช่อดอกยาวประมาณ 1 คืบ ฉีดพ่นยืดช่อดอกด้วยน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ซึ่งหมักจากมะละกอ ฝักทอง กล้วยสุก และปลา

โดยใช้อัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร ผสมน้ำ 500 ลิตร เมื่อลูกลำไยขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟให้ใส่ปุ๋ยหมักอีกครั้ง และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพอัตราส่วนเท่าเดิม รวมทั้งฉีดพ่นสารป้องกันแมลงศัตรูพืชจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ที่หมักจากสะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ข่าแก่ ใบยูคาลิปตัส ในอัตราส่วน 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ทุกๆ 7 วัน

"ผมไม่ได้บอกว่าปุ๋ยอินทรีย์ดีกว่าปุ๋ยเคมี แต่อยากบอกว่าปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินทำให้ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงไม่ต้องใส่มากเหมือนเดิมเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวแล้วทุกวันนี้ยังคงใช้เคมีอยู่แต่ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น โดยหันมาพึ่งการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ไว้ใช้เองควบคู่กันไป "อินทอง กล่าว


นอกจากเรื่องการผลิตลำไยนอกฤดูแล้วในพื้นที่ 11 ไร่ ยังมีการเลี้ยงปลา ปลูกผักและไม้ผลอีกหลายชนิดเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยสถานีพัฒนาที่ดินลำพูนได้คัดเลือกพื้นที่ของนายอินทอง จัดตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งสาธิต ศึกษาดูงาน และเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่ เช่น การใช้พืชปุ๋ยสด การผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่ง พด. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น

เกษตรกรท่านใดสนใจแนวทางการผลิตลำไยนอกฤดูโดยใช้สารอินทรีย์ควบคู่กับสารเคมีทางการเกษตร หรือจะดูงานด้านการพัฒนาที่ดิน ก็สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงได้ ที่หมอดินอาสา อินทอง หล่อเถิน เลขที่ 138 หมู่ 1 บ้านหนองสร้อย ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โทร.08-6912-3914 ได้ตลอดเวลา

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110113/85493/ผลิตลำไยนอกฤดูสูตรหมอดินสารโพแทสผสมปุ๋ยน้ำลดต้นทุน.html