รับมือสถานการณ์ลำไยปี 2554

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 54
รับมือสถานการณ์ลำไยปี 2554

ลำไย ถือเป็นหนึ่งสินค้าที่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รับผลกระทบจากเสถียรภาพด้านราคาลำไยที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากและเกิดการกระจุกตัวในช่วงฤดูการผลิต แต่จากการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการลำไยของกระทรวงเกษตรฯ ที่มุ่งเน้นให้ราคาลำไยเป็นไปตามกลไกตลาด การกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการปลูกนอกฤดูก็พบว่าสถานการณ์ ราคาลำไยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ลำไยเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรชนิดอื่นด้วย

ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการส่งออก ซึ่งถือว่าขณะนี้ประเทศไทยนับเป็นผู้ส่งออกลำไยรายใหญ่ของโลก โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย และฮ่องกง โดยในปี 2553 การส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์มีปริมาณการส่งออก 295,000 ตันเศษ คิดเป็นมูลค่า 5,632 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์การบริโภคภายในประเทศในปี 2553 นั้น พบว่า ความต้องการบริโภคลำไยภายในประเทศมีประมาณ 45,000-50,000 ตัน ซึ่งลดลงจากปี 2552 ซึ่งมีปริมาณ 50,000-55,000 ตัน สาเหตุเนื่องมาจากผลผลิตลดลง ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากลำไย เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เมล็ดลำไย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยระหว่างสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กับ บริษัท พรีม่าเฮิร์บ (ประเทศไทย) จำกัด เรื่องโครงการการพัฒนากระบวนการผลิตสารสกัดจากเมล็ดลำไยอบแห้งที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการสลายเซลล์กระดูกอ่อน จากผลงานวิจัยพบว่าในสารสกัดจากเมล็ดลำไยแห้งมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และสารโพลีฟีนอลเป็นองค์ประกอบหลายชนิด ที่มีรายงานถึงฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบและยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตา แกลนดิน จึงนับเป็นปัจจัยที่ช่วยให้สารสกัดจากเมล็ดลำไยป้องกันหรือต้านการเกิดภาวะโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบได้ดี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยอันเป็นผลงานจากความสามารถของคนไทยและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ที่สามารถนำสารสกัดแยกส่วนจากเมล็ดลำไยมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นองค์ ประกอบในผลิตภัณฑ์ครีมนวดเพื่อสุขภาพให้เหมาะสมกับผู้บริโภค ได้แก่ บุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคข้อเข่าอักเสบและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นักกีฬา และผู้ที่รักษ์สุขภาพทุกคน

โครงการการพัฒนากระบวนการผลิตสารสกัดจากเมล็ดลำไยอบแห้งที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการสลายเซลล์กระดูกอ่อนที่ได้สำเร็จลงนี้ นับเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เมล็ดลำไยซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอบแห้งเนื้อลำไยสีทอง โดยจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติที่สามารถนำไปใช้ป้องกันหรือรักษาอาการ ข้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก อาจจะทำให้ได้ยารักษาโรคข้อเสื่อมในประเทศไทยที่มีราคาถูกและปลอดภัย เมื่อเทียบกับยานำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสวนลำไยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเมล็ดลำไยซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง โดยปัจจุบันส่งผลทำให้เมล็ดลำไยที่ไม่มีมูลค่าสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

โครงการแก้ไขปัญหาลำไยค้างสต๊อก ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามของกระทรวงเกษตรฯ ในการช่วยแก้ไขปัญหาที่มีกระแสข่าวการปลอมปนซึ่งทำให้ราคาลำไยตกต่ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำลายลำไยค้างสต๊อก โดยนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวล อัดแท่งที่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยไม่มีความกังวลว่าลำไยค้างสต๊อกในปี 2546 และ 2547 จะเข้ามาปลอมปนทำให้เกิดปัญหาต่อราคาลำไยในท้องตลาดปัจจุบันอีกด้วย.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=114445