เทคนิคการใช้โพลีเมอร์ให้ความเย็นพืชผักผลไม้ระหว่างขนส่ง


การขนส่งพืชผักผลไม้ไปขายไกลๆ มีปัญหาความร้อนปล่อยออกมาจากพืชซึ่งยังมีชีวิตอยู่ กล่องบรรจุพืชผักมักปิดได้สนิท การป้องกันความร้อนเดิมใช้ก้อนน้ำแข็ง ซึ่งทำให้ภายในกล่องส่งของมีความเย็น แต่พอน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำภายในกล่องหรือภาชนะบรรจุเกิดเปียกชื้นมากก็ทำให้เกิดการเน่า หรือพืชผักเสียคุณภาพได้ การแก้ปัญหาจึงต้องการวัสดุที่ให้ความเย็นและช่วยดูดความชื้นไปในตัว มิให้พืชผักเปียกแฉะ

      ผู้ค้าผักยุคใหม่เริ่มใช้เทคนิคแบบเดียวกับที่ต่างประเทศใช้ คือนำโพลีเมอร์ หรือตัวอุ้มน้ำมาแช่น้ำให้พองตัวครึ่งหนึ่งของความสามารถของโพลีเม่อร์ชนิดนั้นๆ เช่น ชนิดที่พองได้ 400 เท่า, จะใส่น้ำแค่ 200 เท่า ถ้าเป็นชนิดพองได้ 200 เท่า จะใส่น้ำแค่ 100 เท่า (เช่น โพลีเมอร์ 1 กก. แช่น้ำ 100 ลิตร) นำโพลีเมอร์ที่พองน้ำครึ่งเดียวนี้ไปแช่แข็งในช่องทำน้ำแข็งหรือห้องเย็น โดยแบ่งใส่ถุงพลาสติกถุงละประมาณครึ่ง กก. แช่ 5-6 วัน จนเป็นโพลีเมอร์ที่มีน้ำแข็งภายใน เมื่อบรรจุพืชผล ผลไม้ในกล่อง มีโพลีเมอร์แข็งเย็นจัดรองก้นกล่องและวางในบางจุด ปิดกล่องสนิท ภายในกล่องจะเย็น พอน้ำแข็งในโพลีเมอร์ละลายเป็นน้ำ ก็ไม่ไหลเปียกผัก เพราะน้ำก็จะถูกดูดซับโดยโพลีเมอร์นั้นเอง สินค้าในกล่องจึงเย็นนานจนถึงปลายทาง เปิดทางกล่องแล้วก็ยังสด คุณภาพดี ไม่เปียกแฉะ ส่วนโพลีเมอร์ที่เหลือจะนำไปรองก้นหลุมปลูกต้นไม้ต่อไป ต้นไม้ก็งามดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2546