มอดเจาะผลกาแฟแมลงศัตรูในแปลงปลูกที่ส่งผลเสียระหว่างเก็บรักษา

โดย … ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง1,2

1ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มอดเจาะผลกาแฟ นับเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญ ต่อการปลูกกาแฟในพื้นที่ปลูกกาแฟอราบิก้าในเขตภาคเหนือ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตกาแฟในหลายพื้นที่ในเขตภาคเหนือ ผลกาแฟที่ถูกเจาะจะเป็นช่องทางให้เชื้อราและแบคทีเรีย เข้าทำลายซ้ำ ทำให้ผลร่วงเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟลดลง หากสามารถเก็บเกี่ยวผลกาแฟที่มอดเจาะทำลายอยู่ เมล็ดกาแฟที่ได้จะไม่มีคุณภาพ (บัณฑูรย์ และคณะ, 2551)

ในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ หากเกษตรกร ไม่รู้จักแมลงชนิดนี้มาก่อน อาจละเลยในการป้องกัน หรือควบคุมทำให้มอดเจาะผลกาแฟสามารถกลับไปเข้าทำลายผลกาแฟในแปลงปลูกได้ หลังจากเก็บเกี่ยวผลกาแฟสุก หากมีมอดเจาะผลกาแฟ แมลงยังคง อยู่ในเมล็ดกาแฟได้ระหว่างที่มีการกะเทาะเปลือก หรือเรียกว่า สีกาแฟ เพื่อให้ได้กาแฟกะลา ก่อนการลดความชื้นของกาแฟกะลาแมลงยังคงมีการทำลายเมล็ดอยู่ภายใน ถึงแม้ว่าภายหลังเมื่อทำการลดความชื้นแต่เมล็ดกาแฟได้เกิดความเสียหายไปบ้างแล้ว

รูปร่างและลักษณะการทำลายของมอดเจาะผลกาแฟ

มอดเจาะผลกาแฟเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็กประมาณ 1.5-2 มม. ในปี 2553 พบว่ามอดตัวเต็มวัยเข้าทำลายผลกาแฟได้ตั้งแต่ขนาดผลกาแฟมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.3 ม.ม. ขึ้นไป โดยเพศเมียจะเจาะผลกาแฟบริเวณปลายผลหรือสะดือของผล ในผลกาแฟสามารถพบแมลงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต (ระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย) แมลงอาศัยกัดกิน ขยายพันธุ์ในผลจนกระทั่งผลกาแฟสุก และยังสามารถอยู่ในผลกาแฟที่แห้งคาอยู่ในต้น ผลกาแฟที่หล่นลงพื้นดิน และแมลงอยู่ในกาแฟกะลาได้ในระยะหนึ่งถ้าเมล็ดกาแฟมีความชื้นเหมาะสม ซึ่งแมลงยังคงทำลายเมล็ดกาแฟกะลาระหว่างการตากเมล็ด

มอดเจาะผลกาแฟเข้าทำลาย
ผลกาแฟขนาดเล็กประมาณ 2.3 มิลลิเมตรที่เริ่มพบมอดเจาะผลกาแฟเข้าทำลาย

ร่องรอยการเข้าทำลายของมอดเจาะผลกาแฟจะเห็นเป็นรูขนาดเล็กที่ปลายผลกาแฟบริเวณสะดือผล มักสังเกตได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกษตรกรไม่ทราบ อาจไม่ทันที่จะป้องกันหรือจัดการกับมอดเจาะผลกาแฟ

ผลกาแฟสีเขียวและผลสีแดงที่ถูกเจาะ
ผลกาแฟสีเขียวและผลสีแดง (ทุกผล) ที่ถูกเจาะด้วยมอดเจาะผลกาแฟตำแหน่งของรูอยู่ใกล้หรือในตำแหน่งเดียวกันกับสะดือของผล

มอดเจาะผลกาแฟ

วงจรชีวิตของมอดเจาะผลกาแฟ Hypothenemus hampei
วงจรชีวิตของมอดเจาะผลกาแฟ Hypothenemus hampei

แนวทางในการป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดแมลงในสภาพแปลงปลูก ควรใช้การกำจัดแมลงหลายๆ วิธีร่วมกัน

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของมอดเจาะผลกาแฟ โดยการเก็บผลกาแฟที่ค้างอยู่บนต้นให้หมด เนื่องจากในแต่ละผล มอดสามารถอาศัยอยู่ได้มากถึง 65 ตัว (พบในภาคเหนือ) (บัณฑูรย์ และคณะ, 2551)
  • รักษาความสะอาดแปลง เก็บทำลายผลใต้ต้นที่มีผลกาแฟมอดเจาะทำลาย หรือใช้เชื้อรากำจัดแมลง Beauveria bassiana โรยหรือฉีดพ่นที่พื้นดินบริเวณโคนต้นในช่วงฝนตกหรือมีความชื้นสูงเพื่อกำจัดแมลงที่อยู่ในผลแห้งที่โคนต้น
  • เกษตรกรควรร่วมมือกันกำจัดแมลงในแปลงใกล้เคียงกันและทำโดยพร้อมเพรียงกัน ช่วยลดปริมาณแมลงได้เป็นอย่างดี
  • ลดปริมาณแมลงโดยใช้กับดักและสารล่อมอดเจาะผลกาแฟเพื่อดึงดูดมอดเจาะผลกาแฟมาทำลาย ใช้กับดักประมาณ 7-15 ชุด ต่อไร่ วางกระจายให้ทั่วพื้นที่ กับดักจะดักแมลงได้มากที่สุดในช่วงที่ไม่มีผลกาแฟอยู่บนต้น

อย่างไรก็ตาม การใช้กับดักร่วมกับสารล่อมอดเจาะผลกาแฟเพียงอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมหรือลดปริมาณแมลงได้อย่างสมบูรณ์ (เยาวลักษณ์ และคณะ, 2552)

การป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟหลังการเก็บเกี่ยว

แหล่งกะเทาะเปลือกเมล็ดกาแฟ และตากกาแฟกะลาเป็นแหล่งสะสมของมอดเจาะผลกาแฟ ที่อาจติดมากับผลกาแฟจากแปลง และตกค้างอยู่ในกองเศษซากเปลือกและเมล็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกาแฟกะลาช่วงเวลาการลดความชื้น (Bittenbender et al., 2007) ควรมีการ วางกับดักร่วมกับสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ เพื่อลดปริมาณมอดเจาะผลกาแฟแพร่กระจาย หรือกลับเข้าสู่พื้นที่ปลูกกาแฟ

กับดักมอดเจาะผลกาแฟ
กับดักมอดเจาะผลกาแฟที่วางในแหล่งกะเทาะเปลือกกาแฟ

กับดักมอดเจาะผลกาแฟ
กับดักมอดเจาะผลกาแฟ แบบ multi-funnel (ซ้าย) และกับดักดัดแปลงจากขวดพลาสติก (ชวา)

  • ควรเก็บเกี่ยวผลกาแฟให้หมดต้นเพื่อลดแมลงที่สะสมในผลที่ตกค้างอยู่
  • กระสอบที่เก็บเกี่ยวหรือบรรจุผลกาแฟควรเป็นกระสอบที่ทำความสะอาดง่าย สามารถกำจัดแมลงที่ตกค้างอยู่ได้
  • ผลผลิตกาแฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟกะลาที่พบว่ามีมอดเจาะผลกาแฟที่เก็บในกระสอบควรมีการปิดปากกระสอบให้มิดชิดและแยกออกจากพื้นที่นำไปทำลายให้เร็วที่สุด
  • วางกับดักและสารลอ่ มอดเจาะผลกาแฟในแหลง่ ที่ตากกาแฟกะลาที่มีความชื้นสูง เพื่อจับแมลงมากำจัด (Bittenbender et al., 2007)

เอกสารอ้างอิง

– บัณฑูรย์ วาฤทธิ์, ชวลิต กอสัมพันธ์, เยาวลักษณ์ จันทร์บาง, วราพงษ์ บุญมา, ประเสริฐ คำออน, นิธิ ไทยสันทัด, สมบัติ ศรีชูวงศ์, และ ถาวร สุภาวงค์. 2551. การศึกษาการระบาดและป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอราบิก้าแบบ ผสมผสาน. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ.

– เยาวลักษณ์ จันทร์บาง บัณฑูรย์ วาฤทธิ์ ชวลิต กอสัมพันธ์ วราพงษ์ บุญมา ประเสริฐ คำออน นิธิ ไทยสันทัด สมบัติ ศรีชูวงศ์ ถาวร สุภาวงค์ และ พิชญาภา ทองมาลัย. 2552. การใช้กับดัก Multiple funnel ร่วมกับสารล่อในการสำรวจมอดเจาะผลกาแฟ. ว.วิทย์ กษ. 40(3)(พิเศษ): 268-271.

– Bittenbender, H.C., M. Wright, and E. Burbano. 2007. Coffee Berry Borer (Hypothenemus hampei) (online).College of Tropical Agriculture and Human Resources.University of Hawaii. Available: http://www.ctahr.hawaii.edu/site/CBB.aspx. (June 20, 2011).

บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน Postharvest Newsletter ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2554