การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว

โดย … สมนึก ชัชวาลย์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   

การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2545 มีวัตถุประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจกับวิถีปฏิบัติด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแบบพื้นบ้าน ในพืชหลัก 2 ประเภท ได้แก่ 1.ข้าว 2.พืชผัก-ผลไม้ ที่เป็นพืชพันธุ์เดิมของท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนบน การเก็บรวบรวมข้อมูลได้มาจากหลายวิธีการ อาทิ การค้นคว้าจากเอกสารโบราณ เช่น ใบลานและพับสา (สมุดข่อย) การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม รวมทั้งการสังเกตการณ์ วิธีการเก็บเกี่ยวและการดูแลรักษาผลผลิตทางการเกษตรของประชากรเป้าหมายของการศึกษาได้แก่ คนเมือง ไทยใหญ่ ลื้อ กระเหรี่ยง ม้ง ลัวะ และขมุ

ผลการวิจัย พบว่า วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพื้นบ้านเกี่ยวกับพืช ผัก และผลไม้ มีวิธีการหลักๆ ประกอบด้วย

การตากแดด นับเป็นเทคนิควิธีพื้นบ้านที่ชาวบ้านในเกือบทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นประชากรของการศึกษาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เก็บรักษาพืชผลให้ยาวนาน เช่นการตากพริกให้แห้งก่อนนำไปเก็บรักษา เพื่อให้มีกินยาวนานได้หลายๆเดือน จนถึงรอบปีก็มี

การรมควัน เป็นวิธีการพื้นบ้านที่ใช้ถนอมรักษาพืชผักหลายชนิดให้ยาวนาน การรมควันอาจกระทำได้ทั้งโดยตรง เช่นการเอาพริกมาอังความร้อนและรมควัน หรืออาจเป็นการรมควันแบบทางอ้อม คือ การนำพันธุ์พืชผัก เช่น หอมแดง กระเทียม เห็ด หรืองา (ใส่ห่อหรือถุงผ้า) และเชื้อพันธุ์พืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด เมล็ดพริก เมล็ดแตงต่างๆ ใส่ลงในกระด้งนำไปแขวนเหนือครัวไฟในครัวเรือนที่แต่เดิมใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหาร ควันไฟและความร้อนจะช่วยป้องกันแมลง โดยเฉพาะมอดและเชื้อราได้ดี

การเก็บเกี่ยวหรือผึ่งในที่แห้ง วิธีการนี้ใช้ในการเก็บพืชไร่และพืชสวนหลายชนิด เช่น หอมแดง กระเทียม ข้าวโพด โดยจะนำผลิตผลจากพืชไร่ พืชสวน ในส่วนที่เป็นหัวหรือผักมัดรวมเป็นกำๆ แขวนไว้บนราวไม้ที่พาดไว้ตามยุ้งฉางหรือใต้ถุนบ้าน เพื่อให้เกิดการระบายลมที่ดีก็สามารถป้องกันการเกิดเชื้อรา ทำให้เก็บผลผลิตไว้ได้นานๆ

การเก็บในที่ร่มเย็น เทคนิควิธีการนี้ให้นำพืชสวนต่างๆ เช่น ฟักทอง ฟักเขียว เผือก มัน ขิง ฯลฯ ไปเก็บไว้ในบริเวณที่ไม่ค่อยได้รับแดด และออกจะมีอากาศเย็นๆ กว่าบริเวณอื่นๆ ก็จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาพืชผลได้นานหลายๆ เดือน จนถึงปี

การหมกดินหรือทรายและการขุดหลุม พืชที่เป็นหัวและแง่ง เช่น ขิง ข่า และมะนาว เมื่อใช้ไม่หมด ชาวบ้านมักนิยมนำไปหมกไว้ในดินหรือทรายที่บรรจุอยู่ในภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ปี๊บหรือกระป๋องเก่า ส่วนพืชที่เป็นหัว เช่น เผือก มัน หรือแม้แต่ฟักทอง ชาวบ้านหลายเผ่าใช้วิธีขุดหลุดฝังกลบด้วยดิน อาจใช้ขี้เท่าโรยทับก่อนเอาไม้แผ่นหรือตะแกรงไม้ไผ่วางปากหลุม กลบด้วยดินเป็นขั้นสุดท้าย

การใช้ขี้เถ้าโรยกลบ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองและพืชพันธุ์อีกหลายชนิด ชาวบ้านหลายพื้นที่นิยมโรยขี้เถ้าแล้วเก็บในภาชนะปิด เช่น ปี๊บ ก็สามารถเก็บรักษาพืชผลและป้องกันมด แมลงมากัดกิน ได้เป็นเวลานาน

จุดเด่น แม้การศึกษาครั้งนี้จะช่วยฟื้นภาพในอดีตของวิถีชีวิตชาวบ้านหลายกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับการป้องกันและถนอมรักษาข้าว พืชผัก และผลไม้ ให้ยืนยาวได้อย่างไร แล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ที่มีคุณค่ายิ่งแก่แวดวงวิชาการก็คือ การศึกษาครั้งนี้ช่วยชี้ให้เห็นว่า วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพื้นบ้านนั้นมีความเกี่ยวพันธ์กับมิติทางสังคมอีกมากมาย อาทิ

  • เพศกับการแบ่งแยกความชำนาญ การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีบทบาทในการเก็บ คัดสรร และถนอมรักษาพืชผักและผลไม้ มักเป็นบทบาทของเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ เช่น การคัดสรรพันธุ์ข้าวไว้ปลูกในรอบปีต่อไปและการเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่มีการถ่ายทอดกันมา
  • วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพื้นบ้าน มักมีเรื่องของความเชื่อ ซึ่งเป็นมิติทางวัฒนธรรมแฝงอยู่ เช่น การเก็บเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งเพื่อไม่ให้มีแมลงมารบกวน ชาวบ้านหลายพื้นที่จะนำกระดองเต่าและพืชผักหลายชนิด (ใบขนุน, ก๊อมก๊อ, กิ่งหอมแหย้, ห่อพลิ )มาใส่ไว้ก่อนที่จะเทข้าวเปลือกลงในยุ้งฉาง
  • ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งก็รวมทั้งวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพื้นบ้านด้วยนั้น มิได้หยุดนิ่งตายตัว ตรงกันข้ามจากข้อเท็จจริงที่พบในการศึกษาพบว่า แม้ว่าการนำภูมิปัญญานั้นมาใช้ โดยยังยึดรูปแบบและขั้นตอนส่วนใหญ่ตามอดีตอยู่ก็ตามแต่ก็ได้มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือสมัยใหม่เข้าไปด้วยเป็นอันมาก เช่นการใช้แผ่นพลาสติกรองข้าวในการตีหรือนวดแทนการปรับพื้นดินเป็นลานนวดหรือการใช้ครุในการนวดแบบเดิมหรือการใช้ใบพัดพัดลมมาติดแทนใบมีดเครื่องตัดหญ้าเพื่อเป่าไล่ข้าวที่ลีบหรือเสียออกจากข้าวที่ดี ก็นับเป็นวิธีการที่ดี รวดเร็ว และประหยัดเวลาได้มาก ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา

แนวทางการนำไปใช้ประโยชน์
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวมิได้หยุดนิ่งตายตัว แต่ถูกดัดแปลงและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพการณ์ของพื้นที่และบริบททางสังคม วัฒนธรรม ในขณะนั้นอยู่ตลอดเวลา แนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ภายใต้กรอบการศึกษาครั้งนี้จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  • ในด้านช่องทางในการเผยแพร่ควรสร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพื้นบ้าน ด้วยการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนและครัวเรือนในเรื่องเทคนิคการถนอมและยืดอายุพืชผลด้วยวิธีง่ายๆ ซึ่งมีความประหยัดและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจจัดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาในโรงเรียนเพื่อให้ความรู้แก่เด็ก หรือจัดทำข้อมูลความรู้ออกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ
  • นำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่หรือภูมิปัญญาที่เป็นทางการเข้ามาช่วยทำความเข้าใจ ขยายองค์ความรู้ให้เกิดความชัดเจน หรือปรับเทคนิค-รูปแบบวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพื้นบ้านให้มีความเหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันซึ่งก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมและสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านให้ยั่งยืนสืบไป