การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยด้วยระบบมาตรฐาน GlobalGAP ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

โดย… นายพิเชษฐ์ น้อยมณี นักวิชาการ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP

ในการขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP แบบรายเดี่ยว (option 1) ผู้ที่ขอการรับรองจะดำเนินการตามเอกสารจุดควบคุม และเกณฑ์การพิจารณา (Control Point and Compliance Criteria; CPCC) ตามข้อกำหนด 236 ข้อ และเอกสารรายการตรวจตามจุดควบคุมและเกณฑ์การพิจารณา (Checklist CPCC) เท่านั้น การขอการรับรองดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างไปจากการขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP แบบ กลุ่ม (option 2) ที่จะต้องดำเนินการตามเอกสารทั้ง 3 ส่วนด้วยกัน โดยบริษัทหรือกลุ่มผู้ผลิตที่ขอการรับรองระบบมาตรฐานในแบบ option 2 จะต้องมี ระบบการบริหารจัดการคุณภาพ (Quality Management System; QMS) มีโครงสร้างการบริหารงานแบบกลุ่มที่เป็นนิติบุคคล มีระบบการบริหารจัดการตามระบบมาตรฐาน GlobalGAP กำหนดซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อกำหนด 11 ข้อ ได้แก่

  1. การควบคุมและดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ (Worker Health Safety and Welfare)
  2. การควบคุมเอกสารและการจัดเก็บเอกสาร (Document control and Management)
  3. การจัดการของเสียมลภาวะและการนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste and Pollution Management and Recycle)
  4. การจัดการข้อร้องเรียน (Complain)
  5. การจัดการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment and conservation)
  6. การจัดการสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด (Non-Conformity)
  7. การจัดจ้างและการควบคุมงานภายนอก (Sub-Contractor)
  8. การตรวจติดตามภายใน (Internal self-assessment/internal inspection)
  9. การตรวจสอบย้อนกลับ การบ่งชี้ และการแยกผลิตผล (Traceability Specify and Sort Out products)
  10. การพัฒนาความสามารถและการฝึกอบรม (Training)
  11. การเรียกคืน การถอดถอนสินค้าที่ได้รับรอง (Recall Reject Product Certify)

นอกจากนั้น บริษัทหรือกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ฟาร์มให้สอดคล้องกับระบบมาตรฐานกำหนดไว้ เช่น การปรับปรุงห้องเก็บปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช ที่พักคนงาน จุดทิ้งขยะแยกประเภท ป้ายเตือนต่างๆ หลุมกำจัดสารกำจัดศัตรุพืชและบรรจุภัณฑ์เคมี จุดผสมสาร ที่ล้างมือ ห้องน้ำ บันทึกต่างๆ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขณะฉีดพ่น เป็นต้น เพราะผู้ตรวจรับรองระบบมาตรฐาน (Certification Bodies; CBs) จะทำการสุ่มตรวจสมาชิกของบริษัทหรือกลุ่มผู้ผลิตคิดเป็นรากที่สองของสมาชิกทั้งหมด หากพบข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐาน จะต้องทำการแก้ไขสิ่งที่ไม่ สอดคล้อง (Corrective Action Request; CAR) ภายในเวลา 28 วันหลังการตรวจประเมินก่อนที่จะได้รับการรับรองและใบรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP จากผู้ตรวจรับรองระบบมาตรฐาน

การพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้ตามระบบมาตรฐาน GlobalGAP ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากกว่าคู่แข่งที่อยู่ในตลาด สหภาพยุโรปด้วยกัน ทั่วทุกมุมโลกได้เร่งพัฒนาให้มีการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ราย ในปี 2547 เป็นมากกว่า 90,000 ราย ในปี 2552 ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการไม่เกิน 100 ราย ที่ผ่านการตรวจรับรองระบบมาตรฐานดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ซัพพลายเออร์ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจอาหาร เช่น อีออน เทสโก้ แมคโดนัลด์ และมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ในตลาดต่างประเทศเห็นได้ว่าทุกประเทศทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจต่อการปรับตัวด้านการผลิตสู่ระบบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อชิงความได้เปรียบและส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสหภาพยุโรปนี้

อย่างไรก็ตาม หากผลิตผลไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปหรือในตลาดต่างประเทศไม่เร่งผลักดันการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน กระบวนการผลิตผลิตผลเกษตรตั้งแต่ในฟาร์มจนกระทั่งโรงคัดบรรจุให้ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐานกำหนดไว้ ผลิตผลไทยจะไม่สามารถปรับตัวต่อการแข่งขันและชิงความได้เปรียบทางด้านการตลาดในตลาดแห่งนี้ได้เลย ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ส่งผลิตผลเข้าตลาดสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน กาต้า หรือเวียดนามนั้น ได้เร่งพัฒนาและผลักดันกระบวนการผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐานของยุโรป ซึ่งมาตรฐาน GlobalGAP เปิดโอกาสให้มีการเทียบเคียงกับมาตรฐานของประเทศอื่นด้วย (Benchmarking) หากเทียบเคียงมาตรฐานได้สำเร็จจะสามารถใช้มาตรฐาน GAP ของประเทศอื่น ในการรับรองสินค้าและส่งสินค้ามาจำหน่ายในร้านค้าปลีกในสหภาพยุโรปได้เช่นกัน ปัจจุบัน JGAP ของญี่ปุ่น ชิลี (ChileGAP) จีน (ChinaGAP) และ บราซิล (TRIPLO A) ได้เทียบเคียงกับมาตรฐานกับ GlobalGAP เป็น ที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของประเทศไทย ภาคเอกชนไทยได้จัดทำระบบมาตรฐาน ThaiGAP ขึ้นและกำลังเทียบเคียงระบบมาตรฐานดังกล่าวกับระบบมาตรฐาน GlobalGAP อันจะเป็นการช่วยขยายโอกาสผลิตผลไทย ในตลาดยุโรป และช่วยลดอุปสรรคด้านการสื่อสาร ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการและผู้ผลิตของไทยในการขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP อีกทั้ง หน่วยงานภาคการศึกษาและวิจัยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ และพร้อมทั้งสร้างตัวแทนที่ปรึกษา หรือบัณฑิตในระดับอุดมศึกษาให้มีความรู้และความเข้าใจในระบบมาตรฐานเพิ่ม มากขึ้น ให้เป็นขุมกำลังสำคัญในการนำองค์ความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนและกลุ่มผู้ผลิตให้มีความสามารถในการดูแลและจัดการระบบมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดปัจจุบัน

เพื่อผลักดันและเพิ่มศักยภาพในการส่งออกผลิตผลทางเกษตรไทยสู่ตลาดสหภาพยุโรป สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการระบบมาตรฐานเพื่อการส่งออก เช่น ระบบมาตรฐาน GAP ระบบมาตรฐาน GlobalGAP ระบบมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมถึงระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic) อีกทั้ง มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานและคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ โดยที่ผ่านมานั้น สถาบันวิจัยฯ ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาด้านการจัดทำระบบมาตรฐาน GlobalGAP การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานฟาร์มให้สอดคล้องกับระบบมาตรฐานแก่บริษัทส่งออกและกลุ่มผู้ผลิตจนได้รับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP จากผู้ตรวจรับรองระบบมาตรฐาน (CBs) เช่น บริษัท สกายเท็ค จำกัด บริษัท 3F จำกัด กลุ่มวิสหกิจชุมชนอุตสาหกรรมลำไยเพื่อการส่งออก จังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์ส้มโอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นต้น พร้อมทั้งถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ของระบบมาตรฐาน GlobalGAP ด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและสาธิตการทำระบบมาตรฐาน ทำให้ผู้ที่ได้รับอบรมเกิดความเข้าใจถึงการดำเนินงานตามมาตรฐานอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความยั่งยืน สถาบันวิจัยฯ ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายที่ปรึกษาของระบบมาตรฐานโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge Transfer) ที่มีให้แก่บุคลากรตัวแทนความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาลำปาง บริษัท 3 F จำกัด บริษัท ฮะเองอินเตอร์เฟรช จำกัด เป็นต้น ให้เกิดความเข้าใจสามารถถ่ายทอดและขยายงานในการจัดทำระบบมาตรฐาน GlobalGAP ต่อไปซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการคลีนิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนงบประมาณนอกจากนั้น ได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยเช่นกัน สนใจการจัดการระบบ มาตรฐาน GlobalGAP สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 เบอร์โทร 053-944031 และหมายเลข โทรสาร 053-941426 เว็บไซด์ postharvest.cmu.ac.th

เอกสารอ้างอิง
– เอกสาร General regulations integrated farm assurance Version 3.1 Nov 09
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) All farm base Version 3.0-2_Sep 07
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) Crops base Version 3.0-3_Feb 09
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) Fruit and vegetables Version 3.0-2_Sep 07 www.globalgap.org